วัดพระเหลาเทพนิมิตร

  

"พระเหลาเทพนิมิต” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับขัดสมาธิราบ มีขนาดหน้าตักกว้าง ๒.๘๕ เมตร สูง ๒.๗๐ เมตร ถือได้ว่าเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดอำนาจเจริญ ประดิษฐานเป็นพระประธานอยู่ภายในพระอุโบสถ วัดพระเหลาเทพนิมิต ต.พนา อ.พนา จ.อำนาจเจริญ ตามประวัติ บรรพบุรุษผู้สร้างบ้านแปลงเมืองบ้านพนา ได้พากันอพยพมาตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณดงสูง ริมกุดบึงใหญ่ หรือกุดพระเหลาในปัจจุบัน "พระครูธิ” พระที่ชาวบ้านให้การเคารพนับถือ ได้ชักชวนให้ร่วมกันสร้างวัดบริเวณริมกุดบึงใหญ่ และให้ชื่อวัดแห่งนี้ว่า "วัดศรีโพธิชยารามคามวดี” โดยมีพระครูธิ เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก หลังสร้างวัดเสร็จในปี

               พ.ศ.๒๒๖๓ พระครูธิได้นำศิษย์และญาติโยม เริ่มก่อสร้างพระอุโบสถ และศาลาการเปรียญ โดยตัวพระอุโบสถมีขนาดกว้าง ๙.๘๐ เมตร ยาว ๑๕.๕๐ เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ฐานพระอุโบสถและผนังก่อด้วยอิฐ โครงหลังคาเป็นไม้เนื้อแข็งลดหลั่น ๒ ชั้น มุงด้วยกระเบื้องไม้ พ.ศ.๒๕๑๕ ได้เปลี่ยนเป็นหลังคากระเบื้อง เพราะของเดิมทรุดโทรมมาก หน้าบันไดด้านตะวันออกทำด้วยไม้สลักลวดลายต่างๆ ห้องกลางมีลายเถาว์ไม้เต็มห้อง ตรงกลางเป็นรูปราหูกลืนจันทร์ ระหว่างเถาว์ไม้ยังมีรูปเทพนม และรูปหนุมานสลับเป็นช่อง ลวดลายทั้งหมดทำด้วยปูนเพชรแกะสลักอย่างประณีต ไม่ได้สลักลงในเนื้อไม้ พร้อมลงรักปิดทองฝังกระจกทั้งหมด

               ภายในตัวพระอุโบสถยังใช้ไม้เนื้อแข็งทรงกลมทำเป็นเสา ขนาดวัดรอบ ๗๖ เซนติเมตร จำนวน ๘ ต้น ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๖๔ ได้มีการเปลี่ยนเสาไม้เป็นเสาอิฐถือปูนรูป ๔ เหลี่ยม และปี พ.ศ.๒๔๗๑ ท่านพระครูวิโรจน์รัตโนบล (บุดรอด นนฺตโร) เจ้าคณะจังหวัดกิตติมศักดิ์ จังหวัดอุบลราชธานี ได้เขียนลายเถาว์ด้วยสีต่างๆ รอบเสา ๔ ต้น ที่อยู่ในห้องพระประธาน ส่วนเพดานติดดาวกระจายปิดทองประดับกระจก ๔๔ ดวง โดยพื้นเพดานเป็นสี แดงดูอร่ามตา ส่วนพื้นอุโบสถทำเป็นกระเบื้องซีเมนต์

               หลังสร้างพระอุโบสถเสร็จ พระครูธิได้นำคณะลูกศิษย์ สร้างองค์พระประธานประจำพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดสูง ๒.๗๐ เมตร หน้าตักกว้าง ๒.๘๕ เมตร ก่อด้วยอิฐถือปูนลงรักปิดทอง แท่นพระประธานก่อด้วยอิฐถือปูน มีชายผ้านิสีทะนะเหลื่อมพ้นออกมา ตรงกลางผ้ามีรูปพระแม่ธรณีบีบมวยผม โดยท่านพระครูธิเป็นผู้ออกแบบเอง และมอบหมายให้ภิกษุแก้วกับภิกษุอิน ลูกศิษย์เป็นช่างทำการก่อสร้างโดยพระครูธิ อธิบายวิธีทำให้ลูกศิษย์ทำเป็นวันละส่วน วันละตอน หลังลูกศิษย์ทำงานเสร็จก็ให้มารายงานผลการสร้างให้ทราบทุกวัน โดยท่านพระครูธิไม่ได้ลงไปดูแลด้วยเอง

               กระทั่งถึงขั้นตอนขัดเงาลงรักปิดทอง ท่านจึงลงไปดูและถามลูกศิษย์ที่เป็นช่างว่า "ทำงานได้เต็มฝีมือแล้วหรือ” เหล่าช่างก็ตอบว่าได้ทำเต็มฝีมือแล้ว แต่เมื่อพระครูธิ เห็นองค์พระประธานที่เหล่าบรรดาลูกศิษย์พากันทำมา จึงเอ่ยว่าทำงานได้งามอยู่หรอก แต่ต้องให้งามกว่านี้ บรรดาลูกศิษย์ที่เป็นช่างยอมรับว่าหมดฝีมือที่จะทำแล้ว คงไม่สามารถทำให้พระประธานงามได้มากกว่านี้

               ขณะเดียวกัน มีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อ "ซาพรหม” ซึ่งอยู่ในทีมช่างที่ก่อสร้างองค์พระ ได้แสดงตนว่า สามารถทำให้องค์พระงามกว่านี้ได้ พระครูธิจึงมอบหมายให้พระซาพรหมเป็นผู้แก้ไข และพระซาพรหมก็ทำองค์พระพุทธรูปได้สวยงามสมคำพูด โดยเฉพาะใบหน้าองค์พระประธานมีลักษณะงดงามสมส่วนทุกประการ
               กล่าวกันว่า ‘พระเหลาเทพนิมิต’ เป็นพระพุทธรูป ที่มีพระพุทธลักษณะงดงามที่สุดในภาคอีสาน ตามแบบฉบับศิลปะลาว สกุลช่างเวียงจันทร์ ที่ได้รับอิทธิพลศิลปะช่างล้านนาและมีฝีมือช่างท้องถิ่นปรากฏอยู่มาก เช่น เค้าพระพักตร์ เปลวรัศมีที่ยืดสูงขึ้น สัดส่วนของพระเพลาและพระบาท คล้ายคลึงกับองค์พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๓-๒๕

              จากลักษณะขององค์พระพุทธรูปที่งดงาม เวลาเข้าไปกราบนมัสการจะเหมือนท่านยิ้มต้อนรับ คนทั่วไปจึงตั้งชื่อให้ท่านว่า "พระเหลา” ที่มีความหมายว่า "งดงามคล้ายเหลาด้วยมือ” ต่อมา วัดศรีโพธิชยารามคามวดี ที่ใช้เป็นที่ประดิษฐานองค์พระเหลา ได้เปลี่ยนชื่อเรียกตามความนิยมในตัวองค์พระเป็นวัดพระเหลา หมู่บ้านที่ตั้งได้เปลี่ยนชื่อตามเป็นบ้านพระเหลาด้วยจนถึง พ.ศ.๒๔๔๑ ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) พระเกจิอาจารย์ชื่อดังของจังหวัดอุบลราชธานี และภาคอีสาน ได้เสริมนามต่อท้ายให้กับองค์พระเป็น "พระเหลาเทพนิมิต” ซึ่งมีความหมายว่า "พระพุทธรูปที่งามคล้ายเหล่าดุจเทวดานิมิตไว้” สำหรับพระเหลาเทพนิมิต นอกจากจะมีความงดงามตามพุทธศิลปะแล้ว มีคำเล่าลือกันว่า ทุกคืนวันพระ ๗ ค่ำ, ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ, ๑๕ ค่ำ องค์พระพุทธรูปพระเหลาเทพนิมิต จะแสดงพุทธานุภาพให้เกิด ลำแสงสีเขียวแกมขาวขจีลอยออกจากพระอุโบสถในเวลาเงียบสงัดทั้งนี้ การเข้ากราบนมัสการพระเหลาเทพนิมิต ผู้ต้องการบนบานขอให้ประสบความสำเร็จในชีวิต โดยเฉพาะคนที่ไม่มีบุตร มีการกล่าวกันว่า เมื่อมาบนบานขอจากพระเหลาเทพนิมิตแล้ว จะประสบความ สำเร็จสมดังที่ตั้งใจ ส่วนสิ่งของที่ใช้บนบานสานกล่าวก็คือ ดอกไม้ธูปเทียน และปราสาทผึ้ง

ส่วนวัดพระเหลาเทพนิมิต ตั้งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ ๔๐ กิโลเมตร และอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอพนาเพียง ๒ กิโลเมตร มีเส้นทางคมนาคมสะดวก


image
image
image
 
 
 
 

Website Policy | Privacy Policy | Security Policy | Disclaimer | ข้อกำหนดการใช้ Cookies รองรับการทำงานบน Internet Explorer v.11+, Microsoft Edge, Firefox v.47.0+, Chrome v.51+

จำนวนการเข้าชม : 1,282,379